คณาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ เสริมสร้างศักยภาพ
“การถอดบทเรียนด้วยเทคนิค AAR” ให้แก่นิสิตจิตอาสาคณะสาธารณสุขศาสตร์
คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้นำผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร พร้อมทั้งนิสิตจิตอาสา ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดสกลนคร ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบันนั้น วัตถุประสงค์หลักที่คณะฯ ต้องการ คือการเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ให้ได้รับความช่วยเหลือได้โดยเร็วที่สุด นอกจากนั้นคณะฯ ยังใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตจิตอาสาให้มีความสามารถในการถอดบทเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้หลังการปฏิบัติงานในพื้นที่ของทุกวัน โดยใช้เทคนิค “After Action Review : AAR”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิรวรรณ แสนโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร แผนและประกันคุณภาพ พร้อมคณาจารย์ ได้เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ในการนำนิสิตทบทวนบทเรียนหลังการปฏิบัติงาน โดยใช้คำถาม 4 ข้อง่ายๆ เพื่อให้นิสิต จิตอาสาทบทวนผลการปฏิบัติงาน ดังนี้
ข้อที่ 1 ความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการทำงานครั้งนี้คืออะไร
ข้อที่ 2 สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมีอะไรบ้าง
ข้อที่ 3 ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจึงมีความแตกต่างจากสิ่งที่ต้องการให้เกิด
ข้อที่ 4 การทำกิจกรรมครั้งต่อไป เราต้องการทำสิ่งใดให้ดีขึ้น หรือแตกต่างไปจากเดิมบ้าง
โดยทั้ง 4 ข้อนี้ นิสิตจะสามารถสรุปความรู้เป็นรูปธรรมที่ได้จากกระบวนการปฏิบัติงานจริง ซึ่งคณะฯ หวังว่าการเสริมสร้างศักยภาพของนิสิตเรื่องการถอดบทเรียนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานิสิตนอกชั้นเรียนและนำไปสู่การเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ในอนาคต เพราะ “บทเรียนในอดีตที่มีคุณค่าจะนำไปปฏิบัติต่อ บทเรียนจะช่วยให้ไม่กระทำผิดซ้ำ หรืออีกนัยยะหนึ่ง บทเรียนช่วยให้เกิดการเรียนรู้”
ฝ่ายกิจการนิสิต ประชาสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มก.ฉกส.
วันที่ 7 สิงหาคม 2560